ภาษา


ภาษาลาว

            ประเทศลาว ใช้ภาษาลาวเป็นภาษาทางการทั้งในส่วนของภาษาพูดและระบบการเขียน ส่วนในกลุ่มชาวลาวเทิงและชาวลาวสูงยังคงมีการใช้ภาษาประจำเผ่า  ของตนควบคู่กับภาษาลาว ส่วนภาษาต่างประเทศอื่นที่มีการใช้ได้แก่ภาษาฝรั่งเศสซึ่งมีการใช้มาตั้งแต่สมัยอาณานิคม ปัจจุบันยังคงใช้ในวงราชการและการติด  ต่อค้าขายบ้าง อีกภาษาหนึ่งที่สำคัญคือภาษาอังกฤษซึ่งใช้ในการติดต่อกับต่างประเทศและการค้า ซึ่งนับวันการศึกษาภาษาอังกฤษก็ยิ่งจะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
ภาษาลาว (ลาว: ພາສາລາວ พาสาลาว) เป็นภาษาราชการของประเทศลาว เป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ในภาษากลุ่มไท และสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาษาอีสานของประเทศไทยซึ่งเป็นสำเนียงหนึ่งของภาษาลาว ระบบการเขียนในภาษาลาวจะใช้อักษรลาว สำเนียงภาษาถิ่นสำเนียงภาษาถิ่นของภาษาลาวสามารถแบ่งได้ 6 สำเนียงใหญ่ คือ:
                ภาษาลาวเวียงจันทน์ (เวียงจันทน์ บริคำไชย)
                ภาษาลาวเหนือ (หลวงพระบาง ไชยบุรี อุดมไชย หลวงน้ำทา)
                ภาษาลาวตะวันออกเฉียงเหนือ (เชียงขวาง หัวพัน)
                ภาษาลาวกลาง (คำม่วน สุวรรณเขต)
                ภาษาลาวใต้ (จำปาศักดิ์ สาละวัน เซกอง อัตปือ)
                ภาษาลาวตะวันตก (ไม่มีใช้ในประเทศลาว ร้อยเอ็ด)

                ทางการประเทศลาวไม่ได้กำหนดให้สำเนียงถิ่นใดเป็นสำเนียงภาษากลาง แต่การใช้ภาษาลาวอย่างเป็นทางการ เช่น ทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศลาว สถานีวิทยุแห่งประเทศลาว จะใช้สำเนียงเวียงจันทน์ซึ่งเป็นสำเนียงของคนเมืองหลวง สามารถเข้าใจกันได้ทั่วประเทศ การเรียนภาษาลาวในประเทศลาวนั้น รัฐบาลลาวไม่ได้บังคับให้ใช้สำเนียงเวียงจันทน์ แต่ให้สามารถใช้สำเนียงท้องถิ่นต่าง ๆ ได้ แต่การเรียนภาษาลาวสำหรับชาวต่างประเทศ รัฐบาลลาวแนะนำให้ใช้สำเนียงเวียงจันทน์ ฉะนั้นประชาชนในประเทศลาวจึงพูดอ่านภาษาลาวเป็นสำเนียงท้องถิ่นของตน แต่ประชาชนก็สามารถฟังเข้าใจได้ทุกสำเนียงทั่วประเทศ แม้จะพูดภาษาต่างสำเนียงกันก็ตาม

                ภาษาลาวอีกสำเนียงหนึ่งที่ไม่มีในประเทศลาว คือ ภาษาลาวตะวันตก (ภาษาลาวร้อยเอ็ด) เป็นภาษาลาวท้องถิ่นที่ใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาษาอีสาน สำเนียงนี้ใช้พูดกันมากในแถบตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อุดรธานี นครราชสีมา (อำเภอบัวใหญ่ สีดา สูงเนิน ชุมพวง บัวลาย แก้งสนามนาง ประทาย โนนแดง ปักธงชัย สีคิ้ว บางหมู่บ้าน) สุรินทร์ (อำเภอรัตนบุรี สนม โนนนารายณ์) บุรีรัมย์ (อำเภอพุทไธสง นาโพธิ์ บ้านใหม่ไชยพจน์ ลำปลายมาศ หนองหงส์ และบางหมู่บ้านของอำเภอสตึก โนนดินแดง โนนสุวรรณ หนองกี่ คูเมือง ประคำ และอำเภอเมืองบุรีรัมย์ )

                ส่วนจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและบางจังหวัดในภาคเหนือของไทยจะใช้สำเนียงดังนี้ภาษาลาวเหนือ จังหวัดที่พูดในประเทศไทย เช่น จังหวัดเลย อุตรดิตถ์ (อำเภอบ้านโคก น้ำปาด ฟากท่า) เพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า น้ำหนาว) ขอนแก่น (อำเภอภูผาม่าน และบางหมู่บ้านของ อำเภอสีชมพู ชุมแพ) ชัยภูมิ (อำเภอคอนสาร) พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ และนครไทยบางหมู่บ้าน) หนองคาย (อำเภอสังคม) อุดรธานี (อำเภอน้ำโสม นายูง บางหมู่บ้าน)

                ภาษาลาวตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ค่อยมีผู้พูดในประเทศไทย จังหวัดที่พูดในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนลาวพวนที่อพยพมาจากแขวงเซียงขวาง สปป.ลาว เช่น ที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี และบางหมู่บ้าน ใน จังหวัดสกลนคร หนองคาย และยังมีชุมชนลาวพวนในภาคเหนือบางแห่งในจังหวัด สุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ ไม่กี่หมู่บ้านเท่านั้น

                ภาษาลาวเวียงจันทน์ จังหวัดที่พูดในประเทศไทย เช่น จังหวัดชัยภูมิ หนองบัวลำภู หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคาย ศรีเชียงใหม่ ท่าบ่อ โพนพิสัย) ขอนแก่น (อำเภอภูเวียง ชุมแพ สีชมพู ภูผาม่าน หนองนาคำ เวียงเก่า หนองเรือบางหมู่บ้าน) ยโสธร (อำเภอเมืองยโสธร ทรายมูล กุดชุม บางหมู่บ้าน) อุดรธานี (อำเภอบ้านผือ บางหมู่บ้านของอำเภอเมืองอุดรธานี เพ็ญ) ศรีสะเกษ (บางหมู่บ้านของ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ขุขันธ์ ขุนหาญ)

                ภาษาลาวกลาง แยกออกเป็นสำเนียงถิ่น 2 สำเนียงใหญ่ คือ ภาษาลาวกลางถิ่นคำม่วน และถิ่นสะหวันนะเขด ถิ่นคำม่วน จังหวัดที่พูดในประเทศไทย เช่น จังหวัดนครพนม สกลนคร บึงกาฬ (อำเภอเซกา บึงโขงหลง บางหมู่บ้าน) ถิ่นสะหวันนะเขด จังหวัดที่พูดมีจังหวัดเดียว คือ จังหวัดมุกดาหาร
                ภาษาลาวใต้ จังหวัดที่พูดในประเทศไทย จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร แต่ในปัจจุบัน ภาษาลาวตะวันตกหรือภาษาอีสานในประเทศไทยไม่ได้รับการพัฒนาให้ใช้เป็นภาษาทางการ รัฐบาลไทยได้กำหนดให้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาทางการแทน จึงทำให้ภาษาลาวตะวันตกได้รับอิทธิพลจากภาษาไทยค่อนข้างมาก และมีการใช้คำศัพท์ภาษาไทยปะปนค่อนข้างมาก รวมทั้งไม่มีการใช้ตัวอักษรภาษาลาวในการเขียนด้วย จึงทำให้ภาษาลาวตะวันตกในปัจจุบันแตกต่างกับภาษาลาวในประเทศลาว ฉะนั้นจึงทำให้ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยที่ไม่ได้เรียนภาษาลาวแบบประเทศลาว บางครั้งฟังภาษาลาวในแบบทางการลาวไม่เข้าใจโดยตลอด โดยจะเข้าใจแบบจับใจความรู้เรื่อง เท่านั้นแต่ไม่เข้าใจคำศัพท์ความหมายหรือประโยค ทุกคำทุกความหมายได้ เพราะคำศัพท์บางคำซึ่งทางการลาวบัญญัติขึ้นใหม่ ทำให้ภาษาขาดการติดต่อกัน แต่อย่างไรก็ยังถือว่าเป็นภาษาอันเดียวกัน อย่างกรณีภาษาอังกฤษในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา

                ส่วนในประเทศลาว นอกจากสำเนียงถิ่นใหญ่แล้วยังมีสำเนียงแตกออกไปอีกหลายสำเนียงย่อย เช่น ภาษาลาวใต้ถิ่นสาละวัน ภาษาลาวกลางถิ่นสุวรรณเขต สำเนียงย่อยถิ่นเมืองอาดสะพังทอง ภาษาเวียงจันทน์ถิ่นเมืองปากงึม ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผู้พูดภาษาลาวใต้ถิ่นจำปาศักดิ์ในจังหวัดพระวิหาร สตึงแตรง และรัตนคีรีของประเทศกัมพูชาด้วย








ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ประวัติศาตร์

ประชากร

ประเพณีศิลปวัฒนธรรมประเทศลาว